วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555


จัดคริสตมาสให้คนต่างศาสนา

            พบกันอีกแล้วกับคอลัมภ์สาระดี   ในช่วงปิดเทอมคริสตมาสที่ผ่านมา  ผมเข้าใจว่าทุกท่านได้มีโอกาสฉลองคริสตมาสกันอย่างมีความสุข  ไม่ว่าในเมืองหรือบนดอย  ในฐานะเป็นพระสงฆ์นอกจากไปฉลองคริสตมาสแล้ว  ยังต้องทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมด้วย  หลายปีที่ผ่านมาผมไม่ได้มีวัดอยู่เหมือนพระสงฆ์อื่น  ฉะนั้นช่วงเวลาเทศกาลต่าง ๆ ผมสามารถเลือกที่จะไปที่ไหนก็ได้  สองปีที่ผ่านมาผมเลือกไปทำคริสตมาสที่เขตวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  (อยู่ในเมืองจริง ๆ ใกล้กับศาลากลางเลย)  และผมเลือกที่จะไปวัดสาขาที่อยู่ห่างไปขับรถประมาณ 1 ชั่งโมงคือ บ้านมะเขือส้ม  เพราะบรรยากาศดีมาก  อากาศหนาวเย็นและมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว  และบริเวณใกล้เคียงก็มีที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักปางตอง  โครงการพระราชดำริบ้านปางอุ๋ง   หมู่บ้านรักไทย ฯลฯ เพราะก่อนหรือหลังงานสามารถเที่ยวต่อได้ แต่ปีนี้ใจจริงผมไม่อยากไปที่นั่นแล้ว  ในขณะที่กำลังรอตัดสินใจอยู่นั้น  คุณพ่อเจ้าวัด วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (คนใหม่) ได้โทรศัพท์มาเชิญผมไปทำคริสตมาสในเขตอีกครั้งหนึ่ง  แต่คราวนี้คุณพ่อบอกว่าจะให้ไปที่ใหม่ เป็นเขตพื้นที่พี่น้องชาวปกาเกอะญอ คือ บ้านห้วยขมิ้น  ผมตอบตกลงทันที  เพราะที่นี่ผมยังไม่เคยไปมาก่อน เป็นหมู่บ้านคริสตชนที่พึ่งกลับใจได้ไม่นาน   เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว  ผมก็เตรียมตัวโดยทาบทามคุณพ่อจีรภัทร  ซิสเตอร์แม่ปอน และน้องจากซีซี  สุดท้ายได้สมาชิกมา 5 คน  เมื่อถึงเวลากำหนด  ผมออกเดินทางจากกรุงเทพไปค้างที่เชียงใหม่ 1 คืน  ขับจากเชียใหม่ไปค้างที่แม่ฮ่องสอน อีก 1 คืน  (ที่จริงแม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่วัดด้วยกิโลเมตรดูเหมือนจะใกล้  เพราะระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร  แต่ด้วยโค้ง 1,864 โค้งนี่เองทำให้การเดินทางต้องใช้เวลาเกือบจะทั้งวัน) หนึ่งคืนที่แม่ฮ่องสอน  ผมและสมาชิกก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศแม่ฮ่องสอนในยามค่ำคืน  มีถนนคนเดิน (ที่นี่มีทุกคืนตลอดปี)  บรรยากาศสงบ  พูดคุยกันเป็นมิตร  ไม่จอแจ  เหมือนที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพ ทำให้การเดินเที่ยวเป็นแบบสบาย  
เช้าวันที่ 24  ธันวาคม  ผมต้องขับรถจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปหมู่บ้านห้วยขมิ้นอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง  แถมรถธรรมดาใช้ไม่ได้อีก  ต้องรถโฟร์วีลเท่านั้น  (นี่ขนาดอยู่ในเขตอำเภอเมืองนะครับ)  ก่อนเดินทางต้องเตรียมสัมภาระให้พร้อม  เพราะเมื่อขึ้นไปแล้วก็ไม่มีใครอยากจะกลับลงมาทันที  เมื่อของทุกอย่างพร้อมแล้ว  ก็เช็คดูว่าจะมีคนไปอีกกี่คน  จากตอนแรกที่มีพวกเรา 5 คนบวกกับเยาวชนอีก 5 คนเป็น 10 คน  แต่เช้าวันนั้นยังมีคนอยากไปเพิ่มอีก 5 คน  จากตอนแรกที่คิดว่าจะอารถไปคันเดียว  จึงตัดสินใจเอารถไปเพิ่มอีกคัน  เพราะแค่สัมภาระเกือบจะเต็มรถแล้ว  ยิ่งได้ยินว่าอากาศหนาวมากแต่ละคนไม่ยอมน้อยหน้ากัน  เตรียมกันมาแบบถึงหนาวติดศูนย์ก็ไม่กลัว ฉะนั้นคุณพ่อจีรภัทรเลยต้องไปเป็นโชเฟอร์รถอีกคันหนึ่งด้วยความจำเป็น
            การเดินทางเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ช่วงแรกวิ่งบนถนนใหญ่ประมาณ 42 ก.ม  จากนั้นถึงเวลาต้องแข่งแรลลี่แล้ว  เนื่องจากว่าไม่มีใครเคยไปมาก่อนจึงไม่มีรู้เส้นทาง  ชาวบ้านจึงส่งคนมานำเราโดยมีรถมอเตอร์ไชค์เป็นพาหนะ  ด้วยความชำนาญเส้นทางผู้นำทางจึงทิ้งผู้ตามอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่สองคันที่ตามกันมานั้นวิ่งกันฝุ่นตลบ บางช่วงมองไม่เห็นทาง  จึงต้องทิ้งระยะห่างพอสมควร จากช่วงแรกผมวิ่งข้างหน้า  แต่พอเห็นมีฝุ่นเยอะ ผมหลีกทางให้คุณพ่อจีรภัทรวิ่งข้างหน้าแทน  เพราะรถผมทุกคนนั่งในแคป  ส่วนรถคุณพ่อจีรภัทรนั้น มีน้อง ๆ เยาวชนส่วนหนึ่งอยู่กระบะหลัง  ถ้าผมวิ่งข้างหน้าคนที่วิ่งตามหลังจะได้กินฝุ่นกันตลอดทาง   และการขับรถในช่วงนี้ก็ต้องอาศัยโฟร์วีลอย่างอย่างเดียวเพื่อความปลอดภัย  บางช่วงต้องใช้ความสามารถจริง เพราะเจอรถสวนมาสองคันซ้อนในทางโค้ง  (ถนนบนดอยปกติแล้วจะไม่มีไหล่ทาง  บางช่วงก็พอดีสำหรับรถคันเดียว  บางที่กว้างพอรถสองคันสวนกันโดยระยะห่าง 5 เซนติเมตร) เพราะฉะนั้นทุกคนต้องใช้ความสามารถกันเต็มที่กว่าจะหลุดมาได้ทำแหงื่อซึมเหมือนกัน)   สุดท้ายการเดินทางถึงที่หมายประมาณบ่ายโมง  ทันทีที่ลงจากรถได้สัมผัสกับอากาศเย็นทันที  นี่ขนาดกลางวัน คิดในใจว่ากลางคืนจะขนาดไหน (เดี๋ยวก็รู้) เมื่อเก็บสัมภาะรเข้าที่แล้ว  ทานอาหารเที่ยง เสร็จจากอาหารเที่ยงผมและสมาชิกออกเยี่ยมตามบ้านคริสตชน ที่นี่มีครอบครัวอยู่ประมาณ 40 ครอบครัว แต่มีคริสตชน 6 ครอบครัวเท่านั้นและพึ่งกลับใจมาได้ไม่นาน  การไปเยี่ยมตามบ้านมักจะเป็นส่วนหนึ่งของการไปหมู่บ้านเสมอ บางครั้งไม่ได้เยี่ยมเฉพาะบ้านคริสตชนเท่านั้น  เยี่ยมบ้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คริสตชนด้วย  หลังจากเยี่ยมชาวบ้านประมาณ 4 โมงเย็น ก็เริ่มทยอยกับอาบน้ำ  เพราะก่อนหน้านั้นเราได้อาบฝุ่นมาตลอดทาง  แต่การจะอาบน้ำนี้ต้องคิดหนักหน่อย  เพราะน้ำที่จะอาบเย็นพอ ๆ กับน้ำที่แช่ตู้เย็นในเมืองทีเดียว  อย่างไรก็ตามจากการที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก  จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคเท่าไหร่
            เมื่อถึงเวลาเย็นการจัดเตรียมคริสตมาสพร้อมแล้ว มีคนทยอยกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเห็นว่าตรงหน้าเวทีที่จัดงานมีคนจำนวนมาก ตอนแรกผมคิดในใจว่ามีคริสตชนจำนวนมากที่มาร่วมงาน  แต่พอถามครูคำสอนท่านบอกว่าที่มาก่อนทั้งหลายนั้นไม่ใช่คริสตชนหรอกึครับ  เป็นพี่น้องต่างศาสนาและคริสตเตียน  ทั้งคนในหมู่บ้านและจากหมู่บ้านใกล้เคียง  เพราะพี่น้องคริสตชนยังเก็บข้าวของในการรับแขกอยู่  เมื่อได้เวลาประมาณ 18.30 น. ซึ่งเรากำหนดว่าเป็นเวลารับศีลอภัยบาป  เมื่อมีคนต่างศาสนามาจำนวนมากตรงหน้าเวที  ผมถามครูคำสอนว่าจะให้แก้บาปที่ไหน  ท่านตอบว่าแก้บาปบนเวทีนั้นเลย  จะได้เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่น ๆ ด้วย  ผมไม่ขัดข้องจึงฟังแก้บาปบนเวทีต่อหน้าคนต่างศาสนาจำนวนมาก  ผมแอบคิดในใจว่าคริสตชนจะมาแก้บาปหรือเปล่า  พวกเขาจะอายที่จะแก้บาปตรงนี้ไหม  ถึงเวลาจริงคริสตชนทุกคนมาแก้บาป บางคนแก้ไม่ค่อยคล่อง  เนื่องจากเป็นคริสตชนใหม่และอายุมากแล้วด้วย   ผมจึงต้องอธิบายแถมยังต้องชดเชยบาปพร้อมกับพวกเขาด้วย 
            เมื่อถึงเวลามิสซาบรรดาคริสตชนทั้งหลายก็มาอยู่ตรงกลาง  ลักษณะเป็นไข่แดงท่ามกลางพี่น้องต่างศาสนา  และที่น่าสังเกตคือ แม้จะเป็นคนต่างศาสนาและมีจำนวนมากก็ตาม  ทุกคนเงียบและร่วมพิธีกรรมเสมือนหนึ่งว่าเป็นศาสนิกชนของศาสนานั้น  คุณพ่อจีรภัทรเองก็เทศน์แบ่งปัน ให้กำลังใจคริสตชนและส่งความสุขไปยังพี่น้องที่มาร่วมงานทุกท่านด้วย
            มิสซาดำเนินต่อไปจนจบ  จากนั้นก็เป็นกิจกรรมงานรื่นเริง  จากการที่คริสตชนมีจำนวนน้อยในท่ามกลางพี่น้องต่างศานา  ผมคิดในใจว่ากิจกรรมคงจะมีไม่มาก  แต่ผิดคาด เพราะทางโรงเรียนในหมู่บ้าน ได้จัดเตรียมการแสดงจำนวนหลายชุด  แถมด้วยน้อง ๆ เยาวชนจากวัดแม่ฮ่องสอนอีกส่วนหนึ่ง  พร้อมทั้งมีกิจกรรมการจัดสลากสลับกันไป  ยิ่งอยู่ดึกเท่าไหร่อากาศก็เริ่มหนาวเย็นมากขึ้นเท่านั้น  ทำเอาผมเองต้องจัดเต็มเลย  ไม่ว่าถุงเท้า  ถุงมือ  ผ้าพันคอ แถมด้วยผ้าโพกหัว   แม้จะเป็นคริสตมาสเล็ก ๆ แต่กว่าจะเลิกได้เกือบเที่ยงคืน 
            ในเช้าวันใหม่นั้น ต่างกับเมื่อคืนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ  เพราะในพิธีมิสซา เหลือแต่คริสตชนเท่านั้น  จากเมื่อคืนที่ทุกคนอยู่ที่ลานหน้าเวที เช้านี้ทุกคนขึ้นไปอยู่บนเวทีกันหมด    นี่คือคริสตชนตัวจริงของเรา  ส่วนพี่น้องต่างศาสนานั้นก็ช่วยทำอาหารสำหรับเลี้ยงแขกมื้อเช้า         หลังอาหารเช้า ผมก็ออกเดินทางกลับไปที่วัดแม่ฮ่องสอน  แต่เปลี่ยนเส้นทางใหม่  ไปแวะเยี่ยมบ้านเยาวชนที่มากับเราในวันนั้น  พอดีเป็นวันอาทิตย์เราเลยถือโอกาสสวดภาวนาเที่ยงด้วยกันที่หมู่บ้านนั้น  หลังจากนั้นแยกย้ายกันกลับไปรายงานตัวกับคุณพ่อเจ้าวัดในสิ่งที่เราได้ทำ 
            ผมอยากจะสรุปเพียงว่า  ความสุขในชีวิตในการรับใช้พระเจ้า  บางครั้งไม่ได้อยู่ที่ความครบครันในสิ่งของต่าง ๆ ที่เรามี เราพบ  แต่จากน้ำใจพี่น้องทั้งที่เป็นคริสตชนและไม่ใช่คริสตชนที่ร่วมมือกันในการสรรเสริญพระเจ้า ในแบบวิถีชีวิตที่เรีบง่าย  คริสตมาสครั้งนี้ผมรู้สึกว่าเป็นการจัดคริสตมาสให้กับพี่น้องต่างศาสนามากกว่า  เพราะดูเหมือนพวกเขาให้ความสนใจ และร่วมมือ  ต้อนรับเสมือนเราเสมือนหนึ่งเราได้ไปจัดงานให้เขา  ขอพระกุมารเจ้าทรงประทานแด่พวกเขาด้วยเทอญ